วันอังคารที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2556

บทที่ 1 นักดนตรีอินดี้ คืออะไร

นักดนตรีอินดี้ หรือนักดนตรีอิสระนั้น จากคำภาษาอังกฤษที่เขียนว่า Indie Musician หรือ Independent Musician แปลตรงตัวก็คือ นักดนตรีอิสระ แต่สำหรับผมแล้ว ผมอยากให้มันแปลว่า "นักดนตรีที่สามารถพึ่งพาตนเองได้" มากกว่า

ผมมักจะอ่านเจอคนถกเถียงกันอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าใน YouTube, Facebook หรือตาม webpage ต่างๆ ว่าคำว่าอินดี้หมายถึงอะไร  บ้างก็บอกว่าเป็นแนวเพลง บ้างก็ว่าเป็นสไตล์การใช้ชีวิต บ้างก็คิดว่าเป็นการไร้ซึ่งสังกัด ฯลฯ  เถียงกันจนทะเลาะกันไปต่างๆนานา  สำหรับผมแล้ว ผมคิดว่าจากสิ่งที่ผมได้เรียนรู้มาทั้งหมดจากการเป็นนักดนตรีสมัครเล่นในเมืองไทย การได้พูดคุยกับนักดนตรีและคนทำงานในวงการดนตรีที่ผมได้มีโอกาสรู้จัก การศึกษาจากที่ต่างๆ และการได้มีโอกาสทำงานในบริษัทที่เกี่ยวกับนักดนตรีอินดี้ในอเมริกา คำว่านักดนตรีอินดี้สำหรับผมแล้ว ผมอยากให้หมายถึง "นักดนตรีหรือกลุ่มนักดนตรีที่สร้างผลงานดนตรีขึ้นมา ไม่ว่าจะแต่งเพลงเองหรือบรรเลงเพลงของผู้อื่น เพื่อการแสดงหรือเพื่อการบันทึกเสียง ที่เป็นที่รู้จักของสาธารณชนในฐานะศิลปิน ซึ่งดำเนินงานเฉกเช่นธุรกิจขนาดเล็ก และสามารถสร้างรายได้ที่เพียงพอสำหรับยึดเป็นอาชีพหลักหรือเป็นแหล่งรายได้เสริม โดยไม่จำกัดว่าเป็นแนวเพลงใดทั้งสิ้น"

สาเหตุที่ผมเน้นสามสิ่งข้างต้น คือ "ศิลปิน" "ธุรกิจขนาดเล็ก" กับ "รายได้" ก็เพราะว่า

  1. รายได้ (Income) - ผมอยากแยกแยะระหว่างนักดนตรีที่เล่นดนตรีเพื่อเป็นงานอดิเรกกับนักดนตรีที่ใช้ดนตรีเป็นเครื่องหาเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว  ถ้านักดนตรีสองประเภทนี้ถูกคิดว่าเป็นประเภทเดียวกันล่ะก็ ผมคิดว่ามันจะทำให้คนที่หาเลี้ยงตัวเองด้วยดนตรีน้ันต้องอยู่อย่างยากลำบากมากขึ้น เพราะมันจะทำให้ผู้ฟังดนตรีและผู้ว่าจ้างนักดนตรีเห็นว่าการเล่นดนตรีนั้นเป็นแค่การสนองความต้องการที่จะได้แสดงออก การได้ให้ผู้คนได้ชื่นชมความสามารถ และการได้เป็นคนเด่นคนดัง โดยที่ไม่ต้องการค่าตอบแทน หรือแลกกับค่าตอบแทนเพียงเล็กๆน้อยๆเท่านั้น  ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆล่ะก็ นักดนตรีอินดี้ก็จะเหลือแต่นักดนตรีแบบสมัครเล่น กับนักดนตรีที่สุดท้ายแล้วอาจจะสามารถกลายไปเป็นนักดนตรีอาชีพในค่ายเพลงเท่านั้น
  2. ศิลปิน (Artist) - สำหรับผมแล้ว มันมีความหมายที่ผมคิดว่าแยกแยะระหว่างนักดนรีที่รับจ้างเล่นเป็นประจำตามสถานบันเทิงหรืองานรื่นเริงต่างๆที่ไม่ได้จำเป็นว่าต้องให้ใครรู้จักหรือติดตามเป็นแฟนเพลง กับนักดนตรีที่ได้พยายามสร้างเอกลักษณ์เพื่อให้ผู้คนได้รู้จักและติดตามผลงานดนตรีของตนเอง
  3. ธุรกิจขนาดเล็ก (Entrepreneurial Operation) - ผมคิดว่านักดนตรีอินดี้นั้นควรจะมองตอนเองเป็นเหมือนเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก หรือค่ายเพลงเล็กๆ และมองตัวเองเป็น "แบรนด์" อันมีเอกลักษณ์ ที่มีพนักงานประกอบไปด้วยตัวนักดนตรีเอง และทีมงานที่คอยช่วยเหลือในการทำงานด้านอื่นๆ เช่น การหางานเล่น การขายสินค้าของตัวเอง การตลาด การทำบัญชี และการทำภาษี เป็นต้น ไม่อย่างนั้นก็จะเปรียบเหมือนการเป็นนักดนตรีรับจ้างที่ไม่ได้มีความแตกต่างออกไปจากผู้อื่น

ตั้งแต่สมัยที่ผมยังเป็นวัยรุ่น ผมใฝ่ฝันเสมอมาว่าอยากจะสร้างผลงานเพลงในแนวทางที่ผมชอบ และอยากให้ผู้คนที่ฟังเพลงของผมนั้นมีความรู้สึกชอบและเข้าใจเนื้อหาและความรู้สึกของเพลงที่ผมแต่งขึ้นมา และก็อยากจะได้เล่นดนตรีเป็นอาชีพที่สร้างรายได้เพียงพอสำหรับความต้องการในชีวิต  แต่พอผมโตขึ้นมา ผมก็ได้เรียนรู้ว่าหนทางสู่ความฝันนั้นมันมีความยากลำบากอยู่มากมาย แต่ก็เต็มไปด้วยศาสตร์และศิลป์ซึ่งทุกคนสามารถเรียนรู้และนำไปปฏิบัติได้

ผมคิดว่ามีคนอีกไม่น้อยเลยที่มีความฝันแบบเดียวกับผม ผมจึงคิดว่าหากจะทำให้ความฝันของผมและคนหลายๆคนเหล่านั้นเป็นจริงได้นั้น เราต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างสังคมที่จะสนับสนุนความฝันของเราด้วย ผมจึงได้ตัดสินใจลองเริ่มเขียนบล็อกนี้ขึ้นมาโดยหวังว่าจะช่วยนำพาผู้คนมาร่วมอุดมการณ์กับผมได้  ผมไม่ใช่นักดนตรีที่เก่งกาจ หรือนักเขียนที่ดี และยังมีประสบการณ์ไม่มากในวงการดนตรี แต่ก็อยากแบ่งปันความรู้และทัศนคติเกี่ยวกับดนตรีอินดี้ให้คนได้อ่าน และก็หวังว่าทุกๆคนที่ได้อ่านบล็อกนี้จะได้รับความรู้หรือแนวคิดใหม่ๆไปเพื่อทำงานเพลงของตัวเองไม่มากก็น้อยครับ

"ผมใฝ่ฝันว่าจะได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาวงการดนตรีของประเทศไทยให้ดีขึ้นด้วยการช่วยสร้างรากฐานที่แข็งแรงสำหรับอาชีพนักดนตรีอิสระครับ" - ผู้เขียน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น