วันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2556

บทที่ 3 จะเป็นนักดนตรีอินดี้ต้องมีอะไรบ้าง

อาชีพนักร้องนักดนตรีอาจเป็นความฝันของใครหลายๆคน เพราะเราได้เห็นตัวอย่างจากไอด้อลของเรา ว่าเขามีชื่อเสียง มีเงินทอง เป็นที่เคารพนับถือ เราเลยอยากเป็นอย่างเขาบ้าง  แต่ในการที่จะไปถึงระดับนั้นได้นั้นมันยากมาก และต้องอาศัยอะไรมากมายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความสามารถ หน้าตา การแต่งตัว บุคคลิก ดวง จังหวะ บุญบารมี โชคชะตา หรือวาสนา เพราะว่ามันไม่มีกฏตายตัวว่าใครจะดังได้รวยได้เพราะอะไร  แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดไม่ว่าจะเป็นอาชีพอะไรก็แล้วแต่ คือ เรารู้หรือไม่ว่าเรารักอาชีพของเราเพราะอะไร เราทำมันได้ดีหรือไม่ และเราทำไปเพื่อแลกเปลี่ยนกับอะไร

หากมองอาชีพทั่วๆไป เราจะเห็นได้ว่าคนที่มีความรู้เหนือคนทั่วไป มีคุณสมบัติพิเศษที่เป็นที่ต้องการของตลาดงาน และมีความสามารถที่น้อยคนจะมี จะได้รับค่าตอบแทนที่สูงกว่าคนทั่วไป ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นความจริงในสายอาชีพดนตรีเช่นกัน  แต่ผมคิดว่าความพิเศษของดนตรีอย่างหนึ่งก็คือ คุณไม่จำเป็นต้องเรียนจบด้านดนตรี คุณก็สามารถฝึกฝนตัวเองให้กลายเป็นนักดนตรีอาชีพได้  แม้ว่าคุณจะไม่เก่งกาจมากซักเท่าไหร่ แต่ถ้าคุณสามารถทำให้ผู้คนอยากฟังคุณ อยากดูคุณเล่น อยากติดตามคุณ คุณก็สามารถยึดอาชีพนักดนตรีได้เหมือนกัน  ถ้าความฝันของคุณคือการทำเพลงเป็นงานอดิเรก ทำเพลงเพื่อสนองความต้องการส่วนตัว คุณอาจจะไม่คิดมากว่าคุณควรได้ค่าตอบแทนเท่าไหร่ แต่ถ้าการทำเพลงคือสิ่งเดียวที่คุณอยากทำในชีวิตล่ะก็ คุณจะทำอย่างไรให้ดนตรีสามารถสร้างผลตอบแทนที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของคุณได้ล่ะ

อย่างที่ได้กล่าวไว้ในบทที่ 1 นักดนตรีอินดี้ควรแปลว่านักดนตรีที่สามารถพึ่งพาตนเองได้  ผมได้ลองนึกจากประสบการณ์และความรู้ของผม และการสังเกตวงดนตรีที่ผมรู้จัก ว่านักดนตรีอินดี้นั้นจะต้องมีอะไรมาประกอบกันบ้างจึงจะยึดอาชีพนักดนตรีอินดี้ได้  ผมคิดและสรุปว่ามีอยู่ 4 ข้อหลักๆ คือ มีเพลงดี มีคนฟัง มีคนดัน และ มีคนซื้อ
  1. มีเพลงดี (Music)
    • "เพลงที่ดีไม่จำเป็นต้องดัง เพลงที่ดังไม่จำเป็นต้องดี"  
      • คำพูดนี้อาจจะมีความจริงอยู่บ้าง แต่ผมคิดว่ามันเป็นเพราะความนิยมชมชอบของแต่ละคนมากกว่า  ถ้าเพลงนั้นมีคนชอบมากก็ดังในคนหมู่มาก ถ้ามีคนชอบน้อยก็ดังในคนหมู่น้อย  ถ้าเราอยากจะดังในคนหมู่มาก เราก็ต้องทำเพลงแบบที่คนหมู่มากชอบ แต่ปัญหาก็มีอยู่ว่า กระแสความนิยมของดนตรีนั้นเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าเพลงดังเพลงถัดไปจะเป็นเพลงแนวไหนกันแน่
    • "เพลงดีไม่มีรูปแบบตายตัว"  
      • บางเพลงก็จังหวะง่ายๆ คอร์ดชุดเดียวทั้งเพลง มีเนื้อร้องไม่กี่คำ  บางเพลงซับซ้อนทั้งในแง่ดีไซน์เสียง จังหวะ เมโลดี้ และเนื้อหา แล้วเราจะต้องทำอย่างไรล่ะถึงจะทำเพลงดีๆออกมาได้  ปัญหานี้อาจจะดูเป็นปัญหาโลกแตก แต่ถ้าเราได้ลองฟังเพลงเยอะๆ หลากหลายแนว แล้วลองจับจุดสำคัญๆของเพลงต่างๆแล้ว มันก็พอมีรูปแบบอยู่บ้าง ซึ่งนักแต่งเพลงมักจะเข้าใจอยู่แล้ว
    • "เพลงดีไม่ได้ดีแค่ตัวเพลง" 
      • แต่อยู่ที่การนำเสนอเพลงด้วย  ยกตัวอย่างเรื่องหนึ่ง คือ ผมกับวงของผมเคยไปเสนอเพลงให้กับค่ายเพลงอินดี้อยู่ 2-3 ค่าย แล้วมีอยู่ค่ายหนึ่งที่พวกเราได้พบกับผู้บริหารคนหนึ่งที่นั่งฟังเพลงของพวกเราจนจบทุกเพลง แล้วบอกกับเราตรงๆเป็นประโยคแรกว่า "พวกมึงไม่หล่อว่ะ"  ตอนแรกพวกผมก็อึ้งไปกับคำตอบของพี่เขา แต่พี่เขาก็ได้อธิบายไว้ว่า ถ้าดนตรีมันเจ๋งจริงๆล้ำจริงๆ หน้าตาก็ไม่จำเป็นหรอก แต่ถ้ามันครึ่งๆกลางๆ หน้าตาและอิมเมจของเรานั้นก็จะมีส่วนช่วยเป็นอย่างมากกับการทำให้คนอยากมาฟังเพลงของเรา  นอกจากนี้ผมยังคิดว่าเราต้องสร้างสินค้าอื่นๆ และ content หรือสาระเนื้อหาแบบอื่นที่คนจะสนใจเราด้วย เช่น Vlog, Blog หรือการให้สัมภาษณ์ต่างๆ เป็นต้น  สุดท้ายแล้ว ต้องไม่ลืมว่าการแสดงสดต้องทำได้ดีด้วย
  2. มีคนฟัง (Listeners)
    • "รู้มั้ยว่าใครฟัง และเขาฟังเราเพราะอะไร"
      • ถ้าเพลงของเรามีแต่ตัวเรา เพื่อนๆ กับญาติพี่น้องฟัง เราก็ไม่มีทางรู้หรอกว่าจริงๆแล้วเพลงเราดีหรือเปล่า  เราต้องพยายามเอาเพลงของเราออกไปให้คนอื่นฟังให้มากๆ แล้วพยายามหาดูว่าคนที่ชอบเพลงของเราที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับตัวเราเลยนั่นคือใครบ้างและฟังเราเพราะอะไร อายุเท่าไหร่ วิถีการใช้ชีวิตเป็นอย่างไร การศึกษาระดับไหน อาศัยอยู่ที่ใด รู้จักเราผ่านสื่อไหน ทำไมถึงชอบเพลงของเรา ฯลฯ  เพราะถ้าหากว่าเราไม่รู้ว่าผู้ฟังของเราคือใคร เราก็จะไม่มีวันรู้ว่าก้าวต่อไปของเราควรไปทางไหน และจะทำเพลงไปเพื่ออะไร
    • "รู้มั้ยว่าหาคนฟังเพิ่มได้จากไหน และจะติดต่อสื่อสารกับเขาได้อย่างไร"
      • เมื่อเราเริ่มรู้แล้วว่าผู้ฟังของเราคือใคร มาจากไหน ชอบเพลงเราเพราะอะไร รู้จักเราผ่านสื่อใด เราก็พอที่จะเดาได้แล้วว่า เราจะหาคนฟังเพิ่มขึ้นได้อย่างไรจากสิ่งที่คล้ายคลึงกัน เช่น ถ้าผู้ฟังเราเป็นกลุ่มวัยรุ่นในครอบครัวชนชั้นกลางที่ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆเป็นประจำ เราก็ต้องติดต่อสื่อสารและโฆษณางานของเราผ่านสื่อเหล่านั้น และเล่นในงานหรือสถานที่ที่เด็กและเยาวชนเหล่านั้นสามารถไปดูเราได้  ถ้าผู้ฟังของเราเป็นกลุ่มคนในวัยทำงานที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง นอกจากใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ค เว็บไซต์ และ Newsletter แล้ว เราก็จะต้องพยายามไปเล่นตามร้านอาหาร ผับ บาร์ และ Venue ต่่างๆที่กลุ่มคนเหล่านี้ชอบไปกัน เป็นต้น
  3. มีคนดัน (Promoters)
    • "ไม่มีใครดังได้ด้วยตัวเองหรอก"
      • ถึงแม้ว่าจะมีตัวอย่างของนักดนตรีที่ดังทางโซเชียลมีเดีย เช่น YouTube, MySpace หรือ Facebook อยู่หลายๆคน แต่พวกเขาเหล่านั้นก็ต้องอาศัยคนที่ชื่นชอบเขาไปบอกต่อๆกันไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย  และในการที่จะเอาเพลงของเราไปให้สื่อที่เป็นที่รู้จักทั่วไป อย่างสถานีวิทยุ สถานีโทรทัศน์ หรือรายการเคเบิ้ลทีวีต่างๆนั้น ก็ยากมากถ้าเราไม่มีคนรู้จักอยู่ในนั้น  เพราะฉะนั้น สิ่งที่นักดนตรีอินดี้ทุกคนควรทำนั้นก็คือการสร้างความสัมพันธ์ สร้าง connection  ขยายเครือข่ายของคนที่เรารู้จักให้กว้างขึ้น  พอเราเป็นที่รู้จักมากขึ้นแล้ว พวกสื่อต่างๆก็จะมีความสนใจและมั่นใจที่จะช่วยโปรโมตเราผ่านสื่อของเขามากขึ้น  ยกตัวอย่างเรื่องของผมเอง ผมได้รู้จักกับนักดนตรีคนหนึ่งผ่านเพื่อนสมัยเรียน ซึ่งเขาได้แนะนำให้รู้จักกับกลุ่มเพื่อนนักดนตรีของเขาและมือกีต้าร์ของผม และแนะนำให้ผมรู้จักกับเพื่อนๆดีเจของคลื่นวิทยุแห่งหนึ่ง  พอวงผมได้ทำเพลงออกมา (ซึ่งโปรดิวเซอร์ก็ได้รู้จักผ่านเขาอีกนั่นแหละ) เพื่อนๆพี่ๆที่เป็นดีเจที่ชอบเพลงของวงผมก็ช่วยเปิดออกอากาศ เพื่อนๆคนอื่นๆก็ช่วยกันขอเพลงแชร์เพลง พอคนฟังได้ฟังบ่อยขึ้น ก็มีการขอเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆจนเป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้น
  4. มีคนซื้อ (Buyers)
    • "ใครจะยอมจ่ายเงินเพื่อเรา และทำไมถึงยอม"
      • เรื่องคนซื้อนี่สำคัญสำหรับอาชีพนักดนตรีอินดี้มาก เพราะถ้าหากไม่มีคนซื้อแล้ว นักดนตรีจะมีเงินได้อย่างไร เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่เราควรจะเข้าใจคือ ไม่ใช่ทุกคนที่ชอบฟังเพลงของเราหรือชื่นชอบเรา จะยอมเสียเงินเพื่อซื้อสินค้าของเรา  เราจึงควรเริ่มทำความเข้าใจให้ได้ว่าใครคือผู้ซื้อสินค้าของเรา ใครคือแฟนพันธุ์แท้ เขาเป็นใครบ้างและมีลักษณะพฤติกรรมเป็นอย่างไร
    • "เขาจะอยากซื้อสินค้าอะไร ในราคาเท่าไหร่"
      • คำถามนี้เป็นคำถามที่ตอบค่อนข้างยาก เพราะมันไม่มีกฏตายตัวเลย และแม้จะใช้วิธีการคำนวณด้วยหลักเศรษฐศาสตร์ก็อาจจะหาไม่ได้  วิธีหนึ่งที่อาจจะทำได้ก็คือลองผิดลองถูก อีกวิธีหนึ่งก็คือดูจากวงดนตรีอื่นๆว่าเขาขายอะไรในราคาเท่าไหร่ เป็นต้น
    • "เราจะทำอย่างไรให้เขาอยากกลับมาซื้ออีก"
      • หากเราจะหลอกคนให้ซื้อของซักครั้งหนึ่งคงไม่ยากเท่าไหร่ แต่จะหลอกซ้ำอีกก็คงทำไม่ได้แล้ว แถมคนซื้อก็คงจะไปบอกคนอื่นต่อว่าอย่าซื้อของจากเรา สุดท้ายเราก็จะขายอะไรไม่ได้อีก  สำหรับนักดนตรีอินดี้ก็เหมือนกัน  เราต้องรู้วิธีสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับแฟนเพลงของเรา ให้เขาได้รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นแฟนเพลงเรา ทำให้เขาอยากบอกต่อ ทำให้เขาอยากกลับมาสนับสนุนดนตรีของเราไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะสื่อสารผ่านทางโซเชียลมีเดีย คอนเสิร์ต งานแสดง หรืองาน Meet & Greet เป็นต้น

กล่าวโดยสรุปแล้ว นักดนตรีอินดี้ควรต้องมีและเข้าใจใน 4 สิ่งนี้จึงจะสร้างรายได้ได้เพียงพอ คือ มีเพลงดี มีคนฟัง มีคนดัน และ มีคนซื้อ  ซึ่งทั้ง 4 ข้อนี้ผมสรุปขึ้นมาจากความรู้จากวิชาการตลาดที่ได้เรียนมา  หากจะอธิบายเพิ่มเติม นักดนตรีอินดี้นั้นควรต้องมีความเข้าใจระบบการตลาด (Marketing) อยู่บ้าง เช่น ต้องมีความเข้าใจในสินค้าและบริการของตัวเอง (Products & Services) คือ เพลง การแสดง รวมทั้งสินค้าอื่นๆ เข้าใจเรื่องการตั้งราคาสินค้าและบริการ (Pricing) มีความเข้่าใจในลูกค้าของตนเอง (Clients & Customers) คือ แฟนเพลง เข้าใจถึงวิธีการติดต่อ (Communication) ช่องทางการสื่อสาร (Channels) การสร้างและรักษาความสัมพันธ์ (Relationship Management) ทั้งกับแฟนเพลงและผู้ที่เป็นพันธมิตรของตัวเอง (Partnerships) เป็นต้น  ผมคิดว่าจะไม่เขียนถึงทฤษฎีของการตลาดแบบละเอียด แต่จะเขียนถึงหลักการของวิชาการตลาดส่วนที่นักดนตรีอินดี้สามารถเข้าใจและนำไปปรับใช้ได้ ซึ่งจะขอกล่าวเพิ่มเติมในบทถัดๆไป

วันเสาร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2556

บทที่ 2 สังคมอินดี้ควรเป็นอย่างไร

นักดนตรีอินดี้นั้น ต้องมีผู้ที่ยินดีจ่ายเงินเพื่อแลกเปลี่ยนกับสินค้าหรือบริการที่มากเพียงพอ จึงจะมีรายได้ที่เพียงพอที่จะยังชีพ  สินค้าและบริการที่ว่าก็มีอย่างเช่น แผ่นซีดี ไฟล์ MP3 เสื้อยืด โปสเตอร์ การเล่นดนตรีในผับ งานอีเว้นท์ คอนเสิร์ต หรืองานเทศกาลดนตรีต่างๆ ฯลฯ  นอกจากนี้ก็อาจจะมีสิ่งอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับดนตรีโดยตรง อย่างเช่น การเป็นแบบโฆษณาให้กับสินค้าต่างๆ และการรับเงินและอุปกรณ์จากสปอนเซอร์ต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ผลิตไมค์ยี่ห้อ Shure ให้วงดนตรีหรือนักร้องใช้ไมค์ฟรีแลกกับการเอาป้ายโฆษณาของ Shure วางไว้ที่บู๊ธขายของหรือบนเวที และให้วงพูดโปรโมตให้ระหว่างเวลาการแสดง หรือการรีวิวกีต้าร์และเอฟเฟ็กต์ เป็นต้น

เมื่อลองคิดดูแล้วผมคิดว่าอุตสาหกรรมดนตรีนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ
  1. ผู้ผลิตดนตรี (Producers) หมายถึง ผู้คนในหลากหลายอาชีพและบริษัทต่างๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างผลงานทางดนตรีขึ้นมา นับได้ตั้งแต่ผู้ผลิตเครื่องดนตรี คนแต่งเพลง นักดนตรี Sound Engineer, Mixing Engineer, Producer, Mastering Engineer, ไปจนถึงกราฟฟิกดีไซน์ โรงงานปั๊มซีดี และโรงพิมพ์ปกซีดีเลยทีเดียว
  2. ผู้บริโภคดนตรี (Consumers) หมายถึง ผู้คนต่างๆที่ฟังและเสพดนตรีในทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะฟังผ่านเครื่องเสียงชนิดใดก็แล้วแต่ หรือการชมการแสดงดนตรีสด และไม่ว่าจะเสียค่าใช้จ่ายหรือไม่ก็ตาม
  3. ผู้เป็นสื่อกลางทางดนตรี (Mediums) หมายถึง ผู้คนและบริษัทต่างๆที่อยู่ระหว่างผู้ผลิตดนตรีและผู้บริโภคดนตรี แบ่งออกได้เป็นหลายประเภท เช่น 
    • ผู้บริหารจัดการและอำนวยความสะดวกแก่นักดนตรี (Management and Administration) เช่น ค่ายเพลงต่างๆ
    • ผู้ที่มีส่วนร่วมในการจำหน่ายดนตรีในสื่อบันทึกเสียงต่างๆ (Distributors) เช่น ผู้แทนจำหน่าย ร้านซีดี หรือ iTunes 
    • เจ้าของหรือผู้จัดสถานที่ในการเล่นดนตรีสด (Venues) เช่น ผู้จัดงานคอนเสิร์ต งานอีเว้นท์ ร้านอาหาร ผับบาร์ Live venue ต่างๆ
    • สื่อต่างๆที่มีอิิทธิพลทำให้นักดนตรีและเพลงต่างๆเป็นที่รู้จักของผู้คน (Tastemakers) เช่น สถานีวิทยุ รายการโทรทัศน์ นักเขียน คอลัมนิส บล็อกเกอร์ บริษัท PR เป็นต้น
    • ผู้ที่นำดนตรีไปเพื่อใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์หรือบริการของตนเอง (Combinatorials) เช่น ผู้ผลิตภาพยนต์ โฆษณา ร้านอาหาร ผับบาร์
เมื่อจัดแบ่งวงการดนตรีออกเป็น 3 ส่วนแบบนี้ จะเห็นได้ว่า เพลงเพลงหนึ่งหรือผลงานทางดนตรีชิ้นหนึ่งนั้นจะต้องผ่านคนและบริษัทต่างๆที่อยู่ในกลุ่มผู้เป็นสื่อกลางทางดนตรีหลายต่อหลายฝ่ายกว่าจะไปถึงผู้บริโภคดนตรีได้  มองในแง่หนึ่งก็อาจจะทำให้เข้าใจได้ถึงสาเหตุที่ว่าทำไมเม็ดเงินที่ผู้ผลิตดนตรีได้รับนั้นจึงเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนเงินที่ผู้บริโภคต้องจ่ายไป แต่มองอีกแง่หนึ่ง ผู้เป็นสื่อกลางนั้นก็ทำให้ดนตรีนั้นไปถึงหูของกลุ่มคนที่กว้างขึ้น ทำให้ผู้ผลิตดนตรีมีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น

ความสมดุลย์ของทั้ง 3 ฝ่ายนี้มีความสำคัญมากในการที่จะทำให้อาชีพผู้ผลิตดนตรีนั้นมีความมั่นคง แต่ฝ่ายหนึ่งที่ทำให้ระบบทั้งระบบนั้นเสียสมดุลย์ไปอย่างมากในปัจจุบัน ก็คือผู้ที่ขโมยผลงานทางดนตรีไป ไม่ว่าจะเพื่อฟังเอง เพื่อเผยแพร่ หรือเพื่อหาผลประโยชน์ให้กับตนเอง ยกตัวอย่างเช่น ซีดีเถื่อน และเว็บแชร์เพลงต่างๆ เป็นต้น  ด้วยความที่ดนตรีเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ และเพราะเดี๋ยวนี้อินเตอร์เน็ตทำให้สามารถหาเพลงได้อย่างสะดวกสบาย ง่าย และฟรี มันทำให้ผู้คนไม่อยากจะต้องเสียเงินซื้อเพลงที่ถูกลิขสิทธิ์  แต่ความจริงก็คือ การผลิตเพลงเพลงหนึ่งออกมานั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก แถมยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆอีกหลายอย่าง เช่น การโปรโมตและการทำการตลาด  ตอนนี้จึงเป็นที่เข้าใจกันว่านักดนตรีจะหวังพึ่งการขายอัลบั้มเป็นรายได้หลักไม่ได้เหมือนเมื่อก่อนแล้ว และหนทางเดียวที่จะสร้างรายได้นั้นก็คือการทัวร์การแสดงสดเพียงอย่างเดียว

ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น มีวงดนตรีอินดี้อยู่มากมาย และมีกันแทบทุกเมืองก็ว่าได้ วงบางวงอาจมีแฟนเพลงแค่ในเมืองตัวเอง บางวงอาจเป็นที่รู้จักในรัฐใกล้เคียง บางวงอาจจะอยู่ในค่ายเล็กๆที่คอยช่วยเหลือด้านการจัดการและทำ PR และบางวงอาจจะดูแลบริหารตัวเองโดยไม่ต้องจ้างใครช่วยเลยก็ได้เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย  สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าทำไมวงอินดี้ในอเมริกาถึงอยู่รอดกันได้ก็คือขนาดของตลาดในประเทศ  ประชากรของอเมริกานั้นมีประมาณ 300 ล้านคน และชาวอเมริกันนั้นมีกำลังซื้อค่อนข้างสูง การทัวร์คอนเสิร์ตทั่วประเทศ หรือไปตามเมืองใหญ่ต่างๆทำได้ง่าย ไม่เหมือนกับประเทศไทยที่มีประชากรน้อยกว่ามาก กำลังซื้อต่ำ และมีเมืองใหญ่ๆไม่กี่เมืองเท่านั้น  แต่ว่าผมได้มีโอกาสคุยกับเพื่อนคนหนึ่งซึ่งเคยเป็น DJ ในประเทศโปรตุเกส ซึ่งเขาบอกว่าโปรตุเกสนั้นมีขนาดเล็กมากๆ มีประชากรแค่ประมาณ 10 ล้านคน แต่มีวงอินดี้เยอะมากๆ ซึ่งทัวร์กันแทบจะตลอดเวลาและแทบจะภายในประเทศเท่านั้น  ผมจึงพยายามคิดว่า อะไรบ้างจะเป็นเหตุผลที่จะทำให้วงการดนตรีอินดี้นั้นแข็งแรงได้

คำตอบที่ผมได้จากการคิดไปคิดมานั้น คือ นักดนตรีอินดี้นั้นควรที่จะต้องเรียนรู้ที่จะบริหารตัวเอง ทำการตลาดเอง ดูแลเรื่องการเงินเอง และใช้สื่อกลางต่างๆที่ราคาถูกหรือฟรี เช่นสื่อทางอินเตอร์เน็ต เพื่อสื่อสารและขายผลงานของตัวเองให้กับผู้บริโภคหรือแฟนเพลงโดยตรง หรือโดยให้ผ่านสื่อกลางทางดนตรีที่จะกินส่วนแบ่งของรายได้ออกไปให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้  ผู้บริโภคดนตรีก็ควรที่จะยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อผลงานทางดนตรีแทนที่จะขโมยเอาจากอินเตอร์เน็ตด้วย  นอกจากนี้ ผู้บริโภคดนตรีเองก็อาจจะมีส่วนร่วมในการแพร่กระจายข่าวสารของนักดนตรีไปยังกลุ่มคนรู้จักของตัวเอง กลายเป็นสื่อกลางทางดนตรีอีกทางหนึ่งด้วย


กล่าวโดยสรุปแล้ว สังคมอินดี้ในอุดมคติสำหรับผมแล้ว ยังประกอบไปด้วย 3 ฝ่ายที่เขียนไว้ข้างต้น คือ ผู้ผลิตดนตรี ผู้บริโภคดนตรี และผู้เป็นสื่อกลางทางดนตรี แต่ผู้ผลิตและผู้บริโภคดนตรีนั้น จะต้องควบหน้าที่เป็นสื่อกลางด้านการสื่อสารไปพร้อมๆกันด้วยเพื่อลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ของตัวผู้ผลิตดนตรี  นอกจากนี้ สื่อกลางทางดนตรีที่อยู่ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคนั้น จะต้องราคาถูก มีประสิทธิภาพ และช่วยส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้ทั้งสองฝ่ายสามารถทำการซื้อขายโดยตรงได้มากขึ้น

ในบทนี้ ผมขอกล่าวถึงสังคมอินดี้ไว้เพียงคร่าวๆเท่านี้ก่อน แต่จะอธิบายเพิ่มเติมในบทถัดๆไป

วันอังคารที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2556

บทที่ 1 นักดนตรีอินดี้ คืออะไร

นักดนตรีอินดี้ หรือนักดนตรีอิสระนั้น จากคำภาษาอังกฤษที่เขียนว่า Indie Musician หรือ Independent Musician แปลตรงตัวก็คือ นักดนตรีอิสระ แต่สำหรับผมแล้ว ผมอยากให้มันแปลว่า "นักดนตรีที่สามารถพึ่งพาตนเองได้" มากกว่า

ผมมักจะอ่านเจอคนถกเถียงกันอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าใน YouTube, Facebook หรือตาม webpage ต่างๆ ว่าคำว่าอินดี้หมายถึงอะไร  บ้างก็บอกว่าเป็นแนวเพลง บ้างก็ว่าเป็นสไตล์การใช้ชีวิต บ้างก็คิดว่าเป็นการไร้ซึ่งสังกัด ฯลฯ  เถียงกันจนทะเลาะกันไปต่างๆนานา  สำหรับผมแล้ว ผมคิดว่าจากสิ่งที่ผมได้เรียนรู้มาทั้งหมดจากการเป็นนักดนตรีสมัครเล่นในเมืองไทย การได้พูดคุยกับนักดนตรีและคนทำงานในวงการดนตรีที่ผมได้มีโอกาสรู้จัก การศึกษาจากที่ต่างๆ และการได้มีโอกาสทำงานในบริษัทที่เกี่ยวกับนักดนตรีอินดี้ในอเมริกา คำว่านักดนตรีอินดี้สำหรับผมแล้ว ผมอยากให้หมายถึง "นักดนตรีหรือกลุ่มนักดนตรีที่สร้างผลงานดนตรีขึ้นมา ไม่ว่าจะแต่งเพลงเองหรือบรรเลงเพลงของผู้อื่น เพื่อการแสดงหรือเพื่อการบันทึกเสียง ที่เป็นที่รู้จักของสาธารณชนในฐานะศิลปิน ซึ่งดำเนินงานเฉกเช่นธุรกิจขนาดเล็ก และสามารถสร้างรายได้ที่เพียงพอสำหรับยึดเป็นอาชีพหลักหรือเป็นแหล่งรายได้เสริม โดยไม่จำกัดว่าเป็นแนวเพลงใดทั้งสิ้น"

สาเหตุที่ผมเน้นสามสิ่งข้างต้น คือ "ศิลปิน" "ธุรกิจขนาดเล็ก" กับ "รายได้" ก็เพราะว่า

  1. รายได้ (Income) - ผมอยากแยกแยะระหว่างนักดนตรีที่เล่นดนตรีเพื่อเป็นงานอดิเรกกับนักดนตรีที่ใช้ดนตรีเป็นเครื่องหาเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว  ถ้านักดนตรีสองประเภทนี้ถูกคิดว่าเป็นประเภทเดียวกันล่ะก็ ผมคิดว่ามันจะทำให้คนที่หาเลี้ยงตัวเองด้วยดนตรีน้ันต้องอยู่อย่างยากลำบากมากขึ้น เพราะมันจะทำให้ผู้ฟังดนตรีและผู้ว่าจ้างนักดนตรีเห็นว่าการเล่นดนตรีนั้นเป็นแค่การสนองความต้องการที่จะได้แสดงออก การได้ให้ผู้คนได้ชื่นชมความสามารถ และการได้เป็นคนเด่นคนดัง โดยที่ไม่ต้องการค่าตอบแทน หรือแลกกับค่าตอบแทนเพียงเล็กๆน้อยๆเท่านั้น  ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆล่ะก็ นักดนตรีอินดี้ก็จะเหลือแต่นักดนตรีแบบสมัครเล่น กับนักดนตรีที่สุดท้ายแล้วอาจจะสามารถกลายไปเป็นนักดนตรีอาชีพในค่ายเพลงเท่านั้น
  2. ศิลปิน (Artist) - สำหรับผมแล้ว มันมีความหมายที่ผมคิดว่าแยกแยะระหว่างนักดนรีที่รับจ้างเล่นเป็นประจำตามสถานบันเทิงหรืองานรื่นเริงต่างๆที่ไม่ได้จำเป็นว่าต้องให้ใครรู้จักหรือติดตามเป็นแฟนเพลง กับนักดนตรีที่ได้พยายามสร้างเอกลักษณ์เพื่อให้ผู้คนได้รู้จักและติดตามผลงานดนตรีของตนเอง
  3. ธุรกิจขนาดเล็ก (Entrepreneurial Operation) - ผมคิดว่านักดนตรีอินดี้นั้นควรจะมองตอนเองเป็นเหมือนเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก หรือค่ายเพลงเล็กๆ และมองตัวเองเป็น "แบรนด์" อันมีเอกลักษณ์ ที่มีพนักงานประกอบไปด้วยตัวนักดนตรีเอง และทีมงานที่คอยช่วยเหลือในการทำงานด้านอื่นๆ เช่น การหางานเล่น การขายสินค้าของตัวเอง การตลาด การทำบัญชี และการทำภาษี เป็นต้น ไม่อย่างนั้นก็จะเปรียบเหมือนการเป็นนักดนตรีรับจ้างที่ไม่ได้มีความแตกต่างออกไปจากผู้อื่น

ตั้งแต่สมัยที่ผมยังเป็นวัยรุ่น ผมใฝ่ฝันเสมอมาว่าอยากจะสร้างผลงานเพลงในแนวทางที่ผมชอบ และอยากให้ผู้คนที่ฟังเพลงของผมนั้นมีความรู้สึกชอบและเข้าใจเนื้อหาและความรู้สึกของเพลงที่ผมแต่งขึ้นมา และก็อยากจะได้เล่นดนตรีเป็นอาชีพที่สร้างรายได้เพียงพอสำหรับความต้องการในชีวิต  แต่พอผมโตขึ้นมา ผมก็ได้เรียนรู้ว่าหนทางสู่ความฝันนั้นมันมีความยากลำบากอยู่มากมาย แต่ก็เต็มไปด้วยศาสตร์และศิลป์ซึ่งทุกคนสามารถเรียนรู้และนำไปปฏิบัติได้

ผมคิดว่ามีคนอีกไม่น้อยเลยที่มีความฝันแบบเดียวกับผม ผมจึงคิดว่าหากจะทำให้ความฝันของผมและคนหลายๆคนเหล่านั้นเป็นจริงได้นั้น เราต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างสังคมที่จะสนับสนุนความฝันของเราด้วย ผมจึงได้ตัดสินใจลองเริ่มเขียนบล็อกนี้ขึ้นมาโดยหวังว่าจะช่วยนำพาผู้คนมาร่วมอุดมการณ์กับผมได้  ผมไม่ใช่นักดนตรีที่เก่งกาจ หรือนักเขียนที่ดี และยังมีประสบการณ์ไม่มากในวงการดนตรี แต่ก็อยากแบ่งปันความรู้และทัศนคติเกี่ยวกับดนตรีอินดี้ให้คนได้อ่าน และก็หวังว่าทุกๆคนที่ได้อ่านบล็อกนี้จะได้รับความรู้หรือแนวคิดใหม่ๆไปเพื่อทำงานเพลงของตัวเองไม่มากก็น้อยครับ

"ผมใฝ่ฝันว่าจะได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาวงการดนตรีของประเทศไทยให้ดีขึ้นด้วยการช่วยสร้างรากฐานที่แข็งแรงสำหรับอาชีพนักดนตรีอิสระครับ" - ผู้เขียน