ในบทนี้ผมอยากขยายความคำว่า “มีเพลงดี” ให้ชัดเจนมากขึ้น ว่าจริงๆแล้วหมายรวมถึงสินค้าและบริการต่างๆที่นักดนตรีนั้นผลิตออกมา ไม่ใช่แค่มี "เพลง" ที่ดีอย่างเดียวเท่านั้น
หากว่าเราลองนึกถึงสินค้าทั่วๆไป สินค้าที่ดีมักจะหมายถึงสินค้าที่มีคุณภาพ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะตัดสินใจซื้ออะไรซักชิ้น สิ่งหนึ่งที่เรามักจะคิดในใจอยู่เสมอก็คือเรื่องคุณภาพของสินค้า ว่าทำมาจากวัสดุอะไร ทนทานไหม สมกับราคาที่ตั้งไว้หรือเปล่า ฯลฯ แต่ถ้าลองคิดดูดีๆ จริงๆแล้วคนเราไม่ได้ซื้อของเพราะว่าคุณภาพกับราคาแค่นั้นหรอก มันมีปัจจัยอื่นๆอีกหลายอย่างที่จะทำให้เราคิดว่าสินค้าชิ้นหนึ่งๆดีหรือไม่ดี เช่น ดีไซน์เก๋ แพ็กเกจจิ้งสวย มีของแถม ดาราที่เราชอบเป็นแบบโฆษณาให้กับสินค้าชิ้นนั้น เพื่อนๆของเราใช้กัน หมอของเราแนะนำให้ใช้ เป็นสินค้าที่กำลังเป็นที่นิยม ยี่ห้อนี้เราใช้มานานแล้ว ฯลฯ หากจะสรุปแล้วล่ะก็ สินค้าที่ดีหรือไม่ดีนั้น ขึ้นอยู่กับความรู้สึกรับรู้ถึงคุณค่าที่ผู้บริโภคมีต่อสินค้านั้นมากกว่าคุณค่าที่แท้จริงของสินค้า หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Perceived Value เทียบกับ Actual Value นั่นเอง
ในทางดนตรีก็คล้ายๆกัน ไม่ว่าเพลงเพลงหนึ่งจะอัดมาดีแค่ไหน เรียบเรียงไว้สละสลวยเพียงใด นักร้องจะใช้เทคนิคการร้องลูกคอแปดชั้นขั้นเทพ ถ้ามันไม่ใช่ “แนว” ที่เราชอบ เราก็ไม่สนใจจะชอบหรอก เพราะฉะนั้น เพลงที่ดีก็คือเพลงที่ดีเฉพาะกับคนฟังกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือประเภทใดประเภทหนึ่งเท่านั้น (ยกเว้นคนที่เรียนสายดนตรีหรือเข้าใจดนตรีในเชิงเทคนิค ซึ่งไม่ใช่กลุ่มคนทั่วๆไป)
สรุปแล้วนักดนตรีต้องมองให้ลึกลงไปว่าทุกอย่างที่เราทำออกมานั้นเป็นเหมือนแพ็กเกจ (Package) ของสินค้าและบริการหลายๆอย่าง ซึ่งวิธีการมองที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ ให้มองว่าชื่อของเราหรือชื่อของวงเรา เป็นยี่ห้อ เป็นแบรนด์ (Brand) เป็นสิ่งที่สื่อแทนคุณภาพที่ผู้ฟังและผู้ชมจะรับรู้และติดอยู่ในความทรงจำ
แบรนด์ที่ดี เริ่มจากไหน
หลังจากที่ปูทางความคิดให้คุณผู้อ่านเข้าใจแล้วว่าความหมายของ “มีเพลงดี” ไม่ได้แปลตรงตัวว่า มี “เพลง” ดี แต่มีความหมายที่รวมถึงการมีสินค้าที่ดี บริการที่ดี อิมเมจที่ดี และความรู้สึกดีๆ ที่ “ลูกค้า” หรือในที่นี้หมายถึงแฟนเพลงของเรานั้นมีต่อ “แบรนด์” ของเรา แล้วแบรนด์ของนักดนตรีอินดี้ที่ดีควรมีอะไรเป็นส่วนประกอบบ้าง
เพื่อให้จำง่าย แบรนด์ของนักดนตรีต้องมี "2 ใจ 2 สื่อ" คือ มีความมั่นใจและจริงใจ และมี 2 สื่อ คือ สื่อสาระและการสื่อสาร หรือถ้าจะจำเป็นภาษาอังกฤษ คือ 4C - Confidence, Candid, Content & Communication
- Confidence (มั่นใจ)
การจะเป็นศิลปิน เราต้องเริ่มจากการมีความมั่นใจและเชื่อมั่นทั้งในตัวเองและงานศิลปะที่เราทำ ถ้าเรามีความเชื่อมั่นในสิ่งที่เราทำ สีหน้าท่าทาง บุคลิก และการแสดงออกของเราก็จะสื่อถึงความมั่นใจด้วย กลายเป็น Character ของเรา เป็นเสน่ห์และเอกลักษณ์ของเรา คนดูคนฟังเราก็จะจดจำเราได้ง่าย แต่ความมั่นใจนี้ต้องไม่มากจนกลายเป็นความหยิ่งทนง เราต้องมีความนอบน้อมถ่อมตนด้วยถึงจะดี อีกอย่างหนึ่งคือเราต้องไม่ดูแคลนงานของตัวเองด้วย เพราะถ้าเรารู้สึกว่างานที่เราทำนั้นไม่ดีแต่คนก็ชอบเรา มันก็เหมือนเรากำลังหลอกลวงแฟนเพลงของเราอยู่ - Candid (จริงใจ)
ในที่นี้ ผมหมายถึงความจริงใจต่อแฟนเพลงของเรา ไม่เสแสร้งแกล้งทำ เพราะซักวันหนึ่งเขาอาจจะรู้ว่าเราโกหกหรือสร้างภาพ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องตรงไปตรงมาแบบหยาบคาย ควรต้องดูว่ากลุ่มคนดูคนฟังของเรานั้นคือใครและรับเราได้หรือเปล่าด้วย (เพราะบางกลุ่มก็ชอบแบบหยาบคายนะ) - Content (สื่อสาระ)
หมายถึงการสร้างสรรค์สื่อสาระใหม่ๆ ที่มีคุณภาพ ที่น่าติดตาม และสร้างสรรค์ (Creative) ให้ผู้คนได้ดูได้ฟังได้เสพจากเราอยู่เสมอๆ เช่น ทำวีดีโอบล็อก (video blog) โพสต์รูป โพสต์เนื้อเพลงหรือบทกวีที่เราแต่งหรือที่เราชอบ ออกซิงเกิ้ลใหม่ เล่นเพลงคัฟเวอร์ ฯลฯ - Communication (สื่อสาร)
สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับนักดนตรีก็คือแฟนเพลง เพราะฉะนั้นเราควรที่มีการติดต่อสื่อสารกับแฟนเพลงอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เขานั้นคิดถึงเรา ติดตามเรา และไม่ให้ลืมเราง่ายๆ เรียกอีกอย่างว่าเป็นการโปรโมตก็ได้ แต่ก็ต้องไม่มากเกินไปจนคนที่รับสื่อของเรานั้นรำคาญ ถ้าเป็นไปได้ก็ให้มีการกำหนดวันเวลาและความถี่การปล่อยสื่อใหม่ๆออกไป เช่น โพสต์เรื่องทั่วๆไปทุกวัน โพสต์วีดีโอสัปดาห์ละครั้ง โพสต์เดโมใหม่ๆเดือนละครั้ง ปล่อยซิงเกิ้ลใหม่ทุก 4-6 เดือน ฯลฯ
"ทำเพลงดีๆ มีคนฟังเยอะๆ แล้วเราก็จะดัง"
แล้วถ้าถามว่าเราอยากจะเป็นนักดนตรีอิ้นดี้จะต้องทำอย่างไร จะไปเริ่มตรงไหนดี คำตอบง่ายๆของผมคือ "ก็แล้วแต่" ไม่ได้มีกฏตายตัว ถ้าให้คิดเป็นตรรกะง่ายๆแล้ว มันควรเริ่มจากทำเพลงดีๆออกมาให้ได้ก่อน แล้วค่อยเอาไปเผยแพร่ให้คนฟัง จากนั้นคนก็จะเริ่มรู้จักเรา แล้วก็ชอบเรา แล้วก็ติดตามเราในที่สุด แต่จริงๆแล้วมันอาจจะสลับกันก็ได้
Case Study วงติ๋วส์เดย์ (Tue'sday)
ขอยกตัวอย่างวงติ๋วส์เดย์ของพี่เปิ้ลหน่อยกับคุณปุ๊กที่เขาเริ่มต้นด้วยคอนเส็ปต์ที่แปลกและย้อนศรมาก คือ ไม่ใช่แค่เริ่มตั้งวงตั้งแต่ยังไม่มีเพลง แต่เริ่มตั้งวงตั้งแต่ยังเล่นดนตรีไม่เป็นเลย แล้วโปรโมตวงออกทางช่องเคเบิ้ลทีวีและอินเตอร์เน็ตในรูปแบบ Reality Show ด้วยบุคลิกส่วนตัวที่น่ารัก และเนื้อหาที่ทำให้ชวนติดตาม บวกกับแขกรับเชิญที่เป็นดารานักร้องที่มีชื่อเสียง (โดยเฉพาะในกลุ่มคนฟังเพลงแนวอินดี้) ทำให้คนอยากดู คอยให้กำลังใจ และตั้งหน้าตั้งตารอว่าเมื่อไหร่จะออกซิงเกิ้ลแรกออกมาซักที พอถึงเวลาที่ติ๋วส์เดย์ปล่อยซิงเกิ้ลแรกออกมาจริงๆ เพลงก็สามารถขึ้นชาร์ตจนถึงอันดับที่ 1 ของ Fat Radio ได้อย่างรวดเร็ว เพราะว่าคนรู้จักและรอฟังกันอยู่แล้ว แต่ถ้าลองวิเคราะห์ดู จริงๆแล้ววงติ๋วส์เดย์มีข้อได้เปรียบอยู่มากมายเมื่อเปรียบเทียบกับวงดนตรีส่วนใหญ่ เช่น พี่เปิ้ลหน่อยเป็นดีเจอยู่ที่ Fat Radio และก็เป็นที่รู้จักของคนฟังอยู่แล้ว ทีมงานที่ช่วยผลิตและถ่ายทำก็เป็นมืออาชีพ ทีมนักดนตรีก็มีศิลปินหลายท่านให้ความช่วยเหลือ ฯลฯ
แต่ถ้าลองเอาแนวทาง "2 ใจ 2 สื่อ" มาลองวิเคราะห์ดูล่ะก็ จะเห็นได้ว่าวงติ๋วส์เดย์นั้นมีครบทั้ง 4 ข้อ คือ มีความมั่นใจและจริงใจ รวมกันทำให้ติ๋วส์เดย์มี Character ที่น่าสนใจ มีการสร้างสื่อสาระและมีการสื่อสารกับผู้ฟังผู้ชมเสมอๆด้วยรายการ Reality Show คลิปวีดีโอในอินเตอร์เน็ต และการโปรโมตในคลื่นวิทยุ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วที่สำคัญมากก็คือ ถ้าเพลงที่ปล่อยออกมานั้นไม่ได้ดีพอกับความคาดหวังของผู้ฟังล่ะก็ ก็คิดว่าไม่น่าจะสามารถประสบความสำเร็จได้
เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าการมี "เพลง" ดีนั้นอาจะเป็นแก่นกลางที่สำคัญของการเป็นนักดนตรี เราต้องมี ความมั่นใจ มีความจริงใจ มีการสร้างสื่อสาระ และมีการสื่อสารให้กับแฟนเพลงของเราอย่างสม่ำเสมอด้วย